ผู้เขียน หัวข้อ: บริหารจัดการอาคาร: เครื่องมือช่างสามัญประจำบ้าน ที่ควรมี  (อ่าน 23 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 320
  • แหล่งรวมของสะสม เว็บลงประกาศฟรี ลงโฆษณาฟรี ซื้อ-ขายออนไลน์ ใหม่-มือสอง
    • ดูรายละเอียด
บริหารจัดการอาคาร: เครื่องมือช่างสามัญประจำบ้าน ที่ควรมี

เครื่องมือช่างสามัญประจำบ้าน ก็เหมือนกับยาสามัญประจำบ้านที่ช่วยรักษา ช่วยซ่อมแซมบ้านในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือมีไว้ประดิษฐ์ข้าวของเครื่องใช้ในบ้านได้ แล้วเครื่องมือช่างพื้นฐานที่ทุกบ้านควรมี มีอะไรบ้าง

1. ค้อน มีหลากหลายชนิด แต่ที่ควรมีติดบ้านไว้ คือ ค้อนหงอน ที่สามารถใช้ได้ทั้งตอก ทุบ และถอนตะปูได้ แนะนำให้เลือกค้อนที่มีขนาดน้ำหนักอยู่ที่ 16 ออนซ์ ด้ามค้อนควรมีความยาวพอเหมาะจับถนัดและกระชับมือ หุ้มด้วยยาง เพื่อช่วยให้ค้อนไม่หลุดมือได้

2. ตลับเมตร เป็นเครื่องมือช่างพื้นฐานที่ควรมี ไม่มีไม่ได้ ใช้วัดระยะ วัดขนาดของสิ่งของ เช่น วัดระยะการเดินสายไฟ ระยะเดินท่อน้ำ ตลับเมตรที่นิยมใช้จะอยู่ที่ความยาว 2-5 เมตร หน้ากว้าง 1 นิ้ว สายวัดจะได้ไม่บิดเกลียว เวลาดึงออกมาใช้งานต้องไม่หดกลับคืนตลับ เวลาเก็บสายวัดต้องดึงกลับได้ง่าย และควรมีขอเกี่ยวที่ปลายสายวัดด้วย

3. ประแจเลื่อน อีกหนึ่งเครื่องมือช่างที่ขาดไม่ได้ ใช้สำหรับขันหรือคลายหัวน็อตที่มีลักษณะเป็นเหลี่ยม โดยที่ไม่ต้องออกแรงมาก มีแค่ประแจเลื่อนตัวเดียวก็สามารถใช้ขันน็อตได้เกือบทุกขนาด เพราะปากประแจสามารถเลื่อนปรับขนาดได้ เวลาเลือกซื้อ ให้ลองเลื่อนปรับขนาดดูว่า ตัวเลื่อนปรับขนาดหมุนง่าย ปากประแจไม่โยนเยก

4. คีม เป็นเครื่องมือช่างที่ใช้ในการจับ ดัด บีบ ตัด ซึ่งจะสามารถใช้กับวัตถุขนาดเล็ก เช่น เส้นลวดหรือสายไฟ ที่แนะนำให้มีติดบ้านไว้ คือคีมปากจระเข้ ปากคีมมีคมไว้สำหรับตัดด้านข้าง และสามารถใช้จับชิ้นงานได้อยู่ภายในตัวเดียวกัน และคีมปากจิ้งจก ใช้สำหรับจับโลหะแบนหรือสายไฟ ปากคีมมีลักษณะเรียวแหลมและมีขนาดเล็ก เหมาะกับการใช้งานในที่แคบ และงานไฟฟ้า

5. ไขควง ใช้ขันสกรูให้แน่นหรือคลายสกรูออก มีทั้งแบบแฉก แบบแบน และแบบอื่น ๆ ควรมีติดบ้านไว้หลายขนาด เพื่อรองรับได้ทุกการใช้งาน ในการเลือกซื้อ อาจเลือกไขควงแบบหลายขนาดที่ถอดเปลี่ยนหัวได้ในด้ามเดียว และไขควงอีกชนิดที่ขาดไม่ได้เลย ก็คือ ไขควงวัดไฟ ใช้วัดกระแสไฟฟ้า เช่น วัดว่าเต้าเสียบปลั๊กมีกระแสไฟฟ้าหรือไม่ ควรเลือกที่มีขนาดแรงดันไฟฟ้าเหมาะสำหรับ บ้านเราคือ 200 - 250 โวลต์ และเลือกที่มีวัสดุฉนวนหุ้มทั้งตรงด้ามจับกันไฟฟ้ารั่วมาช็อตได้

6. สว่านไฟฟ้า เป็นเครื่องมือช่างที่ช่วยงานเจาะ ไม่ว่าจะเจาะผนัง เจาะไม้ พลาสติก และโลหะให้เป็นรู ใช้งานง่าย ไม่ต้องออกแรงมาก สำหรับการเลือกซื้อ ก็อาจเลือกซื้อรุ่นที่มีโหมดการเจาะทั่วไป สำหรับงานเจาะผนัง เจาะเฟอร์นิเจอร์ที่ไม่ต้องใช้แรงกระแทกมาก กำลังไฟที่ใช้ควรเลือกแบบ 300 วัตต์

7. เลื่อย ใช้ในการตัดวัสดุต่าง ๆ ที่เราต้องการซ่อมแซม ไม่ว่าจะเป็นท่อ PVC ท่ออลูมิเนียม ตะปู นอต สกรู หรือไม้ แต่เราต้องเลือกชนิดของเลื่อยให้เหมาะกับวัสดุที่ต้องการตัด ถ้าต้องการตัดพวกท่อ PVC ตะปู นอต ให้เลือกเลื่อยตัดเหล็ก เลื่อยชนิดนี้สามารถเปลี่ยนใบเลื่อยได้ และฟันของเลื่อยชนิดนี้จะค่อนข้างละเอียดและไม่ลึกทำให้เลื่อยไม้ได้ช้ามาก หากคุณจะเลื่อยไม้ คุณควรเลือกเลื่อยลันดา หากเลือกฟันเลื่อยที่ค่อนข้างถี่ คือ 10-12 ซี่ ต่อ 1 นิ้ว จะใช้เพื่อตัดขวางเนื้อไม้ ให้เกิดรอยตัดที่เรียบ หากเลือกฟันเลื่อยที่หยาบหรือฟันห่าง คือ 5-6 ซี่ ต่อ 1 นิ้ว ใช้ตัดตามแนวยาวของเนื้อไม้ ซึ่งฟันเลื่อยที่หยาบนี้จะสามารถใช้ตัดไม้ได้อย่างรวดเร็ว

8. เทปพันสายไฟ เป็นอีกเครื่องมือช่างที่ควรมีติดบ้านไว้ เพราะหากสายไฟเกิดชำรุดขึ้นมา ก็สามารถใช้เทปพันสายไฟมาซ่อมแซมได้ อีกทั้งยังสามารถใช้พันรอยต่อของสายไฟเพื่อป้องกันไฟรั่วหรือไฟดูดได้อีกด้วย วัสดุที่ใช้ทำเทปพันสายไฟนั้น เป็นพลาสติกที่ทนต่อการความร้อน ยืดหยุ่นได้ ก่อนที่จะพันเทปเข้ากับสายไฟ ควรดึงเทปให้ยืดก่อน เพื่อลดการเกิดฟองอากาศ

9. เทปพันเกลียว ก็เป็นเครื่องมือช่างสามัญประจำบ้านที่ไม่ควรขาด เพราะเมื่อท่อน้ำ ท่อประปารั่วซึม สามารถหยิบเทปพันเกลียวมาพันได้ในทันที

10. มีดคัตเตอร์ เป็นได้ทั้งเครื่องเขียน และเครื่องมือช่าง แนะนำให้แยกการใช้งานกัน เพื่อให้ง่ายกับการหยิบใช้งานได้ ซึ่งในแง่ของเครื่องมือช่าง คัตเตอร์ใช้สำหรับ กรีด ตัด เซาะ เช่น ปอกฉนวนสายไฟ

11. ปืนกาว เหมาะสำหรับงานประดิษฐ์ งานฝีมือ และงานซ่อมแซมอุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งสามารถใช้ติดยึดวัสดุที่รับน้ำหนักได้ไม่มาก เช่น ผ้า ไม้ พลาสติก กล่อง เป็นต้น

12. ไฟฉาย สำคัญเมื่อไฟดับหรือต้องซ่อมแซมอุปกรณ์ในพื้นที่ที่แสงสว่างไม่เพียงพอ แนะนำให้ใช้แบบที่เป็นหลอดไฟ LED ซึ่งจะให้แสงสว่างที่มาก แต่ใช้กระแสไฟฟ้าน้อย ซึ่งไฟฉายแบบหลอดไฟ LED นี้ สามารถใช้งานได้นาน หลายสิบปีเลย เนื่องจากหลอดแบบ LED เป็นหลอดที่ไม่มีไส้ จึงไม่เกิดปัญหาหลอดขาด

13. ถุงมือ ช่วยป้องกันอันตราย และสิ่งสกปรกมาสัมผัสมือ เพราะงานช่างส่วนใหญ่ต้องมีการสัมผัสกับวัสดุแหลมคม อาจทำให้ได้รับบาดเจ็บได้ วิธีการเลือกซื้อถุงมือ ควรเลือกแบบที่สามารถระบายความร้อนได้

14. บันได เป็นอุปรณ์ที่ควรมีติดบ้านเหมือนกัน เพื่อช่วยให้การปีนขึ้นไปทำงาน หรือซ่อมแซมอุปกรณ์ในที่สูงได้ เช่น การเปลี่ยนหลอดไฟ หรือติดตั้งอุปกรณ์บนผนังที่สูง ซึ่งบางคนอาจจะคิดว่าบันไดไม่จำเป็น สามารถใช้โต๊ะหรือเก้าอี้แทนก็ได้ ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด เพราะการใช้งานอุปกรณ์ไม่ถูกประเภท อาจทำให้เกิดอันตรายได้

15. กล่องเครื่องมือ มีไว้เก็บเครื่องมือช่างสามัญประจำบ้าน เราควรเก็บรวบรวมไว้ที่เดียวกัน และเก็บให้เป็นระเบียบ เพื่อให้ง่ายกับการหยิบใช้งาน หากต้องกรใช้งานแบบเร่งด่วน ก็หาเครื่องมือได้สะดวก ซึ่งการเลือกซื้อกล่องเครื่องมือ เลือกได้ตามการจัดเก็บเครื่องมือที่แต่ละบ้านมีได้เลย