ผู้เขียน หัวข้อ: หมอออนไลน์: ปลายประสาทอักเสบ (Peripheral Neuropathy)  (อ่าน 25 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 316
  • แหล่งรวมของสะสม เว็บลงประกาศฟรี ลงโฆษณาฟรี ซื้อ-ขายออนไลน์ ใหม่-มือสอง
    • ดูรายละเอียด
หมอออนไลน์: ปลายประสาทอักเสบ (Peripheral Neuropathy)
« เมื่อ: วันที่ 7 ตุลาคม 2024, 12:01:15 น. »
หมอออนไลน์: ปลายประสาทอักเสบ (Peripheral Neuropathy)

ปลายประสาทอักเสบ (Peripheral Neuropathy) เป็นภาวะหนึ่งของเส้นประสาทซึ่งทำหน้าที่รับส่งคำสั่งจากสมองและไขสันหลังไปยังอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายเกิดความเสียหายหรือเกิดโรคบางชนิด อาจทำให้เกิดอาการ เช่น อ่อนแรง ปวดและชาตามมือและเท้า หรืออวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย โดยอาการปวดและชาที่เกิดขึ้นจากโรคบางชนิดบรรเทาได้ด้วยการรับประทานยา


อาการปลายประสาทอักเสบ
ปลายประสาทมี 3 ประเภท ซึ่งปลายประสาทอักเสบอาจเกิดขึ้นได้กับทุกประเภท อันได้แก่

    ประสาทรับความรู้สึก ซึ่งเป็นประสาทที่เชื่อมต่อกับผิวหนัง
    เส้นประสาทสั่งการหรือนำคำสั่ง ซึ่งเป็นประสาทที่เชื่อมต่อกับกล้ามเนื้อ
    ระบบประสาทอัตโนมัติ ซึ่งเป็นประสาทที่เชื่อมต่อกับอวัยวะภายใน

อาการปลายประสาทอักเสบ มีอาการที่พบบ่อย ได้แก่

    มีอาการเหน็บและชาตามมือและเท้า
    มีอาการแสบ หรือเจ็บแปลบบริเวณที่ได้รับผลกระทบ
    กล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยเฉพาะที่เท้า
    เสียการทรงตัวและการประสานงานของอวัยวะในร่างกาย

อาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เช่น

    ความดันโลหิตลดลงต่ำ
    การหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
    ท้องผูก
    อาหารย่อยยาก
    ท้องเสีย
    เหงื่อออกมากกว่าปกติ

อาการทั้งหลายข้างต้นมักเกิดขึ้นตลอดเวลา แต่อาจเป็นแล้วหายไปได้เอง หรือเป็น ๆ หาย ๆ


เมื่อใดที่ควรพบแพทย์ ?

หากพบว่ามือหรือเท้ามีอาการชา อ่อนแรงหรือมีอาการเจ็บผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะหากได้รับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างทันท่วงทีจะช่วยให้ควบคุมอาการและป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเส้นประสาทส่วนปลายได้

สาเหตุของปลายประสาทอักเสบ
สาเหตุของปลายประสาทอักเสบนั้นเกิดขึ้นได้จากโรคหรือภาวะหลายประการ ได้แก่

    โรคเบาหวาน เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของการเกิดปลายประสาทอักเสบ โดยครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยโรคเบาหวานมีโอกาสเป็นปลายประสาทอักเสบ
    เกิดบาดแผลหรือการกดทับที่เส้นประสาท บาดแผลที่อาจทำให้เส้นประสาทเกิดความเสียหาย เช่น อุบัติเหตุจากการขับขี่ยานพาหนะ หกล้ม หรือบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา และการกดทับที่อาจทำให้เส้นประสาทเกิดความเสียหาย เช่น ใส่เฝือก ใช้ไม้ค้ำ หรือการทำท่าทางซ้ำ ๆ เช่น พิมพ์งานมาก ๆ
    โรคทางภูมิคุ้มกัน ได้แก่ โรคโจเกรน (Sjogren's Syndrome) ลูปัส (Lupus) โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) กลุ่มโรคโรคกิลแลง-บาร์เร (Guillain-Barre Syndrome) โรคเส้นประสาทอักเสบเรื้อรัง (Chronic Inflammatory Demyelinating Polyneuropathy: CIPD) และการอักเสบของผนังหลอดเลือด (Necrotizing Vasculitis)
    ความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น โรค Charcot-Marie-Tooth ซึ่งเป็นโรคทางระบบประสาททางพันธุกรรม
    การติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียบางชนิด รวมไปถึงโรคไลม์ (Lyme Disease) โรคงูสวัด การติดเชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์ (Epstein-Barr Virus) ไวรัสตับอักเสบ ซี โรคเรื้อน โรคคอตีบ หรือเอชไอวี ทำให้เกิดปลายประสาทอักเสบได้ทั้งสิ้น
    สัมผัสกับสารพิษ การสัมผัสกับสารเคมีที่เป็นพิษหรือโลหะหนักอาจทำให้ปลายประสาทอักเสบได้
    การใช้ยารักษาโรคบางชนิด โดยเฉพาะผู้ที่รักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy) มีโอกาสเกิดปลายประสาทอักเสบได้
    การติดสุรา การเลือกรับประทานอาหารที่ไม่ดีหรือขาดโภชนาการที่ดีของผู้ที่ติดสุรา อาจทำให้ร่างกายขาดวิตามิน ซึ่งเป็นสาเหตุให้ปลายประสาทอักเสบได้
    เนื้องอก เนื้องอกและมะเร็งอาจเกิดขึ้นที่เส้นประสาทหรือกดทบเส้นประสาทได้ นอกจากนี้ มะเร็งบางชนิดที่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองภูมิคุ้มกันร่างกายสามารถทำให้เกิดโรคเส้นประสาทหลายเส้น (Polyneuropathy) ซึ่งหมายถึงโรคของระบบประสาทที่เกิดจากมะเร็ง (Paraneoplastic Syndrome)
    การขาดวิตามิน ได้แก่ วิตามิน บี 1 วิตามิน บี  6 วิตามิน บี 12 วิตามิน อี และไนอาซิน เป็นส่วนสำคัญที่อาจทำให้เกิดปลายประสาทอักเสบหรือสุขภาพของระบบประสาทผิดปกติได้
    ความผิดปกติของไขกระดูก ซึ่งรวมไปถึงโรคเส้นประสาทที่เกิดจากการสะสมของโปรตีนที่ผิดปกติ โรคมะเร็งกระดูก มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และโรคอะไมลอยด์โดซิส (Amyloidosis)
    โรคอื่น ๆ ได้แก่ โรคไต โรคตับ ความผิดปกติของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน และภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน

นอกจากนั้น ยังมีผู้ป่วยปลายประสาทอักเสบจำนวนมากที่ไม่สามารถระบุสาเหตุของโรคได้

การวินิจฉัยปลายประสาทอักเสบ
การวินิจฉัยปลายประสาทอักเสบ แพทย์จะเริ่มจากการสอบถามประวัติอาการที่เกิดขึ้น และตรวจร่างกายในบริเวณที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งอาจมีการตรวจประสาทสัมผัส ความแข็งแรงและระบบประสาทอัตโนมัติรีเฟล็กซ์ของร่างกาย นอกจากนั้น แพทย์อาจให้ตรวจเลือดเพื่อหาสาเหตุ เช่น โรคเบาหวาน หรือการขาดวิตามิน บี  12

ผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องพบนักประสาทวิทยาเพื่อตรวจเพิ่มเติม เช่น

    ตรวจการทำงานของเส้นประสาท (Nerve Conduction Test: NCS) ตรวจโดยการกระตุ้นเส้นประสาทด้วยไฟฟ้า นำขั้วไฟฟ้า (Electrode) ติดไว้ที่ผิวหนัง ซึ่งจะทำให้วัดค่าสัญญาณความเร็วและความแข็งแรงของเส้นประสาทได้
    การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electromyography: EMG) เป็นการตรวจกล้ามเนื้อด้วยคลื่นไฟฟ้าโดยการสอดเข็มเข้าไปทางผิวหนังและวัดค่าคลื่นไฟฟ้าของกล้ามเนื้อ ซึ่งโดยปกติจะทำควบคู่ไปกับการตรวจการทำงานของเส้นประสาท (Nerve Conduction Test: NCS)

การตรวจอื่น ๆ ได้แก่

    การตรวจอย่างละเอียด เช่น เอกซ์เรย์ (X-Ray) เอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือซีทีสแกน (Computerized Tomography: CT-Scan) และเอกซ์เรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเอ็มอาร์ไอ (Magnetic Resonance Imaging: MRI) จะช่วยให้ทราบสาเหตุได้ง่ายขึ้น
    การตัดเนื้อเยื่อของเส้นประสาทบางส่วนไปตรวจเพื่อหาความผิดปกติ ซึ่งมักจะเป็นเส้นประสาทรับความรู้สึก
    การตัดเนื้อเยื่อของผิวหนังบริเวณที่มีความผิดปกติบางส่วนไปตรวจ
    การตรวจการทำงานของระบบประสาทอื่น ๆ การตรวจการทำงานของใยประสาท (Nerve Fiber) การตรวจการขับเหงื่อ (Sweat Test)


การรักษาปลายประสาทอักเสบ มีเป้าหมายเพื่อรักษาโรคหรือภาวะที่เป็นสาเหตุและบรรเทาอาการที่เกิดขึ้น


การใช้ยารักษา

    ยาบรรเทาอาการปวด ยาที่ซื้อใช้เอง เช่น ยาลดการอักเสบ (NSAIDs) ใช้บรรเทาอาการที่ไม่รุนแรง แต่หากมีอาการรุนแรง แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาแก้ปวด นอกจากนั้น ยารักษาโรคที่มีส่วนประกอบของโอปิออยด์ (Opioid) เช่น ยาทรามาดอล (Tramadol) ยาออกซิโคโดน (Oxycodone) อาจทำให้ผู้ป่วยติดใช้ยาได้ โดยยาประเภทนี้จะสั่งโดยแพทย์เท่านั้นและจะใช้เมื่อการรักษาชนิดอื่นไม่ได้ผล
    ยาต้านชัก เช่น ยากาบาเพนติน (Gabapentin) และยาพรีกาบาลิน (Pregabalin) ถูกพัฒนาเพื่อนำมาใช้ในการรักษาโรคลมชักหรือโรคลมบ้าหมู โดยอาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้ เช่น เวียนศีรษะ ง่วงซึม เป็นต้น
    ยาใช้เฉพาะที่ เช่น ยาครีมแคปไซซิน (Capsaicin) ซึ่งจะช่วยลดอาการที่เกิดจากประสาทส่วนปลายอักเสบ ซึ่งการใช้ยาครีมอาจทำให้ผิวหนังแสบและเกิดการระคายเคือง แต่อาการจะดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป หรือยาลิโดเคน (Lidocaine) แบบแผ่นแปะ เป็นอีกทางเลือกในการรักษาที่ช่วยลดอาการปวดโดยแปะแผ่นแปะลงบนผิวหนังบริเวณที่มีอาการ แต่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ง่วงซึม เวียนศีรษะ ชา เป็นต้น
    ยาแก้ซึมเศร้า ยากลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclic) เช่น ยาอะมิทริปไทลีน (Amitriptyline) ยาด็อกเซปิน (Doxepin) ยานอร์ทริปไทลีน (Nortriptyline) นำมาใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทำงานของสารเคมีในสมองและไขสันหลังที่ทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวด นอกจากนั้น ยังมียาที่นำมาใช้รักษาอาการเจ็บปวดของปลายประสาทอักเสบที่มีสาเหตุมากจากโรคเบาหวาน เช่น ยาเอสเอ็นอาร์ไอ (Serotonin and Norepinephrine Reuptake Inhibitor: SNRI) และยาเวนลาฟาซีน (Venlafaxine) แต่อาจมีผลข้างเคียง เช่น ปากแห้ง คลื่นไส้ ง่วงซึม เวียนศีรษะ เบื่ออาหารและท้องผูก


การบำบัด

การบำบัดเพื่อช่วยบรรเทาอาการปลายประสาทอักเสบอาจทำได้โดยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

    การใช้ไฟฟ้ากระตุ้นเส้นประสาทผ่านทางผิวหนังเพื่อลดความเจ็บปวด (Transcutaneous Electrical Nerve Stimulation: TENS) นำขั้วไฟฟ้าติดไว้บนผิวหนัง และส่งกระแสไฟฟ้าอ่อน ๆ ความถี่หลายรูปแบบ ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้วิธีนี้เป็นเวลา 30 นาทีต่อวัน เป็นระยะเวลาประมาณ 1 เดือน
    การเปลี่ยนถ่ายน้ำเหลือง (Plasma Exchange) และการบำบัดรักษาด้วยอิมมูโนโกลบูลิน (Intravenous Immune Globulin) เป็นขั้นตอนที่จะช่วยยับยั้งระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะมีประโยชน์กับผู้ป่วยที่มีปัญหาภาวะการอักเสบบางชนิด การเปลี่ยนถ่ายน้ำเหลือง จะเป็นการนำเลือดออก นำแอนติบอดี้และโปรตีนออกจากเลือด และนำเลือดที่ถูกกรองแล้วกลับเข้าไปในร่างกาย ส่วนการบำบัดรักษาด้วยอิมมูโนโกลบูลิน ผู้ป่วยจะได้รับโปรตีนในระดับสูงที่ทำหน้าที่เหมือนกับแอนติบอดี้
    กายภาพบำบัด สำหรับผู้ป่วยที่ร่างกายอ่อนแอ การกายภาพบำบัดจะช่วยพัฒนาการเคลื่อนไหวของร่างกายได้ นอกจากนั้น ผู้ป่วยอาจต้องใช้เครื่องช่วยพยุง ไม้เท้า นั่งรถเข็นคนพิการ หรือเครื่องช่วยเดิน
    การผ่าตัด สำหรับผู้ป่วยที่มีสาเหตุจากการกดทับที่เส้นประสาท เช่น การกดทับจากเนื้องอก อาจมีความจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อลดแรงกดทับ

ภาวะแทรกซ้อนของปลายประสาทอักเสบ
ภาวะแทรกซ้อนของปลายประสาทอักเสบที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่

    เกิดบาดแผลที่ผิวหนังและแผลไหม้ โดยผู้ป่วยอาจไม่รู้สึกถึงอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงหรืออาการเจ็บบริเวณที่เกิดบาดแผลดังกล่าวเนื่องจากอาการชา
    เกิดการติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นเท้าหรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกายที่ไร้ความรู้สึกจากปลายประสาทอักเสบอาจเกิดการบาดเจ็บโดยที่ผู้ป่วยไม่รู้ตัวได้ ดังนั้น ผู้ป่วยควรตรวจสอบบริเวณดังกล่าวอยู่เสมอและรักษาแผลหรือการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นก่อนจะนำไปสู่การติดเชื้อ โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
    หกล้ม เพราะเมื่อร่างกายอ่อนแอและไร้ความรู้สึกของอาจทำให้ร่างกายเสียสมดุลและทำให้ผู้ป่วยหกล้มได้ง่าย


การป้องกันปลายประสาทอักเสบ

การป้องกันปลายประสาทอักเสบ มีวิธีดังนี้

    รักษาและควบคุมโรคที่สาเหตุ วิธีป้องกันปลายประสาทอักเสบที่มีประสิทธิภาพ เป็นการรักษาและควบคุมโรคที่ทำให้เกิดความเสี่ยงเป็นปลายประสาทอักเสบ เช่น โรคเบาหวาน ติดสุรา หรือโรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis)
    เลือกใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดี เช่น
        รับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืชและโปรตีนที่มีไขมันต่ำให้มาก เพราะจะช่วยรักษาสุขภาพของเส้นประสาท รวมไปถึงป้องกันการขาดวิตามิน บี 12 โดยรับประทานเนื้อวัว เนื้อปลา ไข่ อาหารไขมันต่ำและธัญพืชเสริม นอกจากนั้น หากเป็นผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติ รับประทานธัญพืชเสริม เพราะเป็นแหล่งของวิตามิน บี 12 แต่ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการรับประทานอาหารเสริมวิตามิน บี 12 ก่อน
        ออกกำลังกายเป็นประจำ หากแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าผู้ป่วยออกกำลังกายได้ ก็ควรออกครั้งละอย่างน้อย 30 นาที-1 ชั่วโมง อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์
        หลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดความเสียหายต่อเส้นประสาท ได้แก่ กิจกรรมที่ทําซ้ำ ๆ อยู่ในท่าทางจำกัด สัมผัสกับสารเคมีที่เป็นพิษ สูบบุหรี่และดื่มสุรามากเกินไป