ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: เบาจืด (Diabetes insipidus/DI)  (อ่าน 35 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 331
  • แหล่งรวมของสะสม เว็บลงประกาศฟรี ลงโฆษณาฟรี ซื้อ-ขายออนไลน์ ใหม่-มือสอง
    • ดูรายละเอียด
ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: เบาจืด (Diabetes insipidus/DI)
« เมื่อ: วันที่ 22 พฤศจิกายน 2024, 17:25:27 น. »
ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: เบาจืด (Diabetes insipidus/DI)

เบาจืด เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถเก็บรักษาสมดุลของน้ำในร่างกาย ทำให้มีอาการถ่ายปัสสาวะออกบ่อยและมาก และกระหายน้ำมากคล้ายโรคเบาหวาน แต่ไม่มีภาวะน้ำตาลในเลือดและปัสสาวะสูงอย่างที่พบในโรคเบาหวาน ผู้ป่วยเบาจืดจะมีอาการกระหายน้ำตลอดเวลา และปัสสาวะออกมากซึ่งมีลักษณะเจือจาง ไม่มีสีและไม่มีกลิ่น

โรคนี้พบได้น้อยมาก (พบประมาณ 3 คนต่อประชากร 100,00 คน) ส่วนใหญ่พบในผู้ใหญ่ แต่ก็อาจพบในเด็กได้


สาเหตุ

โรคนี้มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนต้านการขับปัสสาวะที่มีชื่อว่า เอดีเอช (ADH ซึ่งย่อมาจาก antidiuretic hormone) หรือมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เวโซเพรสซิน (vasopressin) ได้น้อยกว่าปกติ ฮอร์โมนนี้สร้างที่สมองส่วนที่เรียกว่า "ไฮโพทาลามัส" และเก็บไว้ที่ต่อมใต้สมอง มีฤทธิ์ยับยั้งไม่ให้ไตขับปัสสาวะออกมากกว่าปกติ ช่วยรักษาสมดุลของน้ำในร่างกาย กล่าวคือ เมื่อร่างกายขาดน้ำหรือกระหายน้ำ ก็จะมีการสร้างเอดีเอชออกมามาก ทำให้ไตลดการขับปัสสาวะ แต่ถ้ามีการดื่มน้ำในปริมาณมาก ร่างกายก็จะสร้างเอดีเอชออกมาน้อย ทำให้ไตขับปัสสาวะออกมามาก

โรคนี้มีสาเหตุหลัก ๆ ดังนี้

    สาเหตุที่พบได้บ่อยสุด คือ เกิดจากร่างกายขาดเอดีเอช (ADH) เนื่องจากสมองสร้างฮอร์โมนนี้ได้น้อยกว่าปกติ ทำให้ไตมีการขับปัสสาวะออกมากกว่าปกติ ทั้งนี้อาจเป็นผลมาจากความผิดปกติในสมอง (เช่น การผ่าตัดบริเวณใกล้ต่อมใต้สมอง การได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ เนื้องอกในบริเวณใกล้ต่อมใต้สมอง สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น) ถ้าพบในเด็กอาจเกิดจากความผิดปกติทางกรรมพันธุ์

พบว่าประมาณร้อยละ 30 ของผู้ป่วยที่ร่างกายขาดเอดีเอช เกิดจากปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง (ออโตอิมมูน) ทำให้ไฮโพทาลามัสสร้างเอดีเอชได้น้อยลง โดยไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน

    ความผิดปกติของไตที่ไม่ตอบสนองต่อฤทธิ์ของฮอร์โมนเอดีเอช ทั้ง ๆ ที่ไฮโพทาลามัสสร้างฮอร์โมนชนิดนี้ได้เพียงพอ ทำให้มีการขับปัสสาวะออกมากกว่าปกติ อาจเกิดจากโรคไตเรื้อรัง (เช่น กรวยไตอักเสบเรื้อรัง ภาวะไตวายเรื้อรัง โรคถุงน้ำไตชนิดหลายถุงหรือ polycytic kidney) ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำหรือภาวะแคลเซียมในเลือดสูง (ซึ่งทั้ง 2 ภาวะนี้ทำให้ไตทำงานได้ไม่ปกติ) 

บางรายอาจเกิดจากความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ 

บางรายเกิดจากการใช้ยา ที่พบบ่อย คือ ลิเทียม (lithium ซึ่งใช้รักษาโรคอารมณ์สองขั้ว) นอกจากนี้อาจเกิดจากยาอื่น ๆ อาทิ ยารักษาลมชัก (เช่น เฟนิโทอิน) ยาลดน้ำหนัก (เช่น orlistat ) ยาปฏิชีวนะ (เช่น เมทิซิลลิน โอฟล็อกซาซิน) ยาต้านไวรัส (เช่น  cidofovir, foscavir) เป็นต้น

    ภาวะตั้งครรภ์ อาจทำให้รกมีการสร้างเอนไซม์ (ชื่อ vasopressinase) ซี่งไปทำให้ฮอร์โมนเอดีเอช (เวโซเพรสซิน) ของหญิงตั้งครรภ์ลดลง ทำให้เกิดอาการเบาจืดได้ ภาวะนี้พบได้น้อยมาก มักเกิดอาการในไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ และมักหายได้เองหลังคลอด


อาการ

ผู้ป่วยจะมีอาการปัสสาวะออกบ่อยและมาก กระหายน้ำและดื่มน้ำมาก ชอบดื่มน้ำเย็นมากเป็นพิเศษ ปากมักจะแห้งอยู่เสมอ จะมีอาการกระหายน้ำอยู่ตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน แม้นอนหลับตอนกลางคืนก็มักจะลุกขึ้นมาปัสสาวะและดื่มน้ำคืนละหลายครั้ง บางครั้งมีอาการปัสสาวะรดที่นอน ผู้ป่วยมักถ่ายปัสสาวะวันละเกิน 5 ลิตร (ถ้าเป็นรุนแรงอาจมากถึงวันละ 20 ลิตร) ปัสสาวะมักจะไม่มีกลิ่น ไม่มีสี

ผู้ป่วยอาจมีอาการอ่อนเพลีย เมื่อยล้า ง่วงซึม ปวดกล้ามเนื้อ ในรายที่มีสาเหตุจากเนื้องอกสมองอาจมีอาการปวดศีรษะเรื้อรังร่วมด้วย

ในทารกและเด็กเล็ก มักมีอาการผ้าอ้อมเปียกชุ่มบ่อย ปัสสาวะรดที่นอน หงุดหงิด งอแง นอนไม่หลับ มีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร อาเจียน ท้องผูก น้ำหนักลด การเจริญเติบโตช้า


ภาวะแทรกซ้อน

ถ้าดื่มน้ำได้ไม่เพียงพออาจเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง (ทำให้มีอาการตาลึกโบ๋ ปากแห้ง ผิวหนังเสียความยืดหยุ่น ชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ มีไข้ น้ำหนักลด เวียนศีรษะ หน้ามืด สับสน กระสับกระส่าย) และภาวะเสียสมดุลของเกลือแร่ (ทำให้มีอาการอ่อนเพลีย ซึม สับสน คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นตะคริว)


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจปัสสาวะ จะพบว่ามีความถ่วงจำเพาะต่ำ (< 1.005) ตรวจเลือด (พบระดับฮอร์โมนเอดีเอชต่ำ, ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ, อาจพบระดับแคลเซียมในเลือดสูง หรือระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ) และทำการตรวจพิเศษ เช่น การทดสอบด้วยการอดน้ำ (water deprivation test)* การทดสอบด้วยเวโซเพรสซิน (vasopressin test)**

ในรายที่สงสัยมีสาเหตุเกี่ยวกับสมอง จะทำการการถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์

*โดยให้ผู้ป่วยอดน้ำหลายชั่วโมง แล้วทำการตรวจวัด osmolarity ของเลือดและปัสสาวะ รวมทั้งปริมาณและความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะเป็นช่วง ๆ ถ้าพบว่าผลการตรวจมีการเปลี่ยนแปลงสู่ระดับปกติ ก็แสดงว่าไม่เป็นเบาจืด แต่ถ้าผลการตรวจยังผิดปกติเหมือนเดิม ก็แสดงว่าเป็นเบาจืด

**ทำหลังทดสอบด้วยการอดน้ำแล้วพบว่าเป็นเบาจืด โดยการฉีดเวโซเพรสซินขนาดเล็กน้อยให้ผู้ป่วย และทำการตรวจวัดแบบเดียวกับการทดสอบด้วยการอดน้ำ ถ้าพบว่าผลการตรวจเปลี่ยนเป็นปกติ แสดงว่ามีสาเหตุจากความผิดปกติในสมองซึ่งสร้างฮอร์โมนเอดีเอช (เวโซเพรสซิน) ได้น้อย แต่ถ้าผลการตรวจยังผิดปกติเหมือนเดิม ก็แสดงว่ามีสาเหตุจากความผิดปกติของไตที่ไม่ตอบสนองต่อฮอร์โมนนี้


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การรักษาตามสาเหตุ ดังนี้

    ถ้าเกิดจากร่างกายขาดเอดีเอช เนื่องจากสมองสร้างฮอร์โมนนี้ได้น้อยกว่าปกติ สำหรับในรายที่เป็นไม่รุนแรง (ปัสสาวะวันละประมาณ 3-4 ลิตร) แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2.5 ลิตร เพื่อทดแทนน้ำให้เพียงพอ ไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ

ส่วนในรายที่เป็นรุนแรง แพทย์จะรักษาด้วยยาเอดีเอช (เวโซเพรสซิน) สังเคราะห์ เช่น เดสโมเพรสซิน (desmopressin) ซึ่งมีทั้งยาเม็ด ยาฉีด และยาพ่นจมูก

    ถ้าเกิดจากความผิดปกติของไตที่ไม่ตอบสนองต่อฤทธิ์ของฮอร์โมนเอดีเอช แพทย์จะแนะนำให้ลดปริมาณเกลือโซเดียมที่บริโภค หยุดยา (ถ้าพบว่าเป็นสาเหตุ) ถ้าจำเป็นแพทย์จะให้กินยาเม็ดไฮโดรคลอโรไทอาไซด์ (hydrochlorothiazide ซึ่งแม้ว่าจะเป็นยาขับปัสสาวะ แต่มีฤทธิ์ช่วยลดปริมาณปัสสาวะในผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้) อาจให้ยาชนิดนี้เดี่ยว ๆ หรือใช้ร่วมกับยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ไอบูโพรเฟน, นาโพรซิน เป็นต้น (ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างพรอสตาแกลนดิน ซึ่งเป็นสารที่ต้านฤทธิ์ของฮอร์โมนเอดีเอช)
    ถ้าเกิดจากภาวะตั้งครรภ์ แพทย์จะให้เดสโมเพรสซิน (desmopressin)

ผลการรักษา เมื่อได้รับการรักษา อาการมักจะทุเลาได้ดีและสามารถดำเนินชีวิตได้เป็นปกติ ส่วนจะต้องรักษานานเพียงใดย่อมขึ้นกับสาเหตุที่พบ บางรายอาจใช้เวลาไม่นานและหายขาดได้ แต่บางรายอาจต้องใช้ยารักษาไปจนตลอดชีวิต


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการปัสสาวะมากและบ่อย กระหายน้ำและดื่มน้ำบ่อย เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคเบาจืด ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ 
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
    ควรพกน้ำดื่มติดตัวไว้ตลอดเวลา และดื่มน้ำให้พอเพียง ระวังอย่าให้ขาดน้ำ
    ควรพกสมุดหรือบัตรประจำตัวที่ระบุถึงโรคที่เป็นและยาที่ใช้รักษา หากระหว่างเดินทางไปไหนมาไหนเกิดอาการฉุกเฉินรุนแรง แพทย์จะได้ให้การช่วยเหลือที่ถูกต้องและทันการณ์


ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีอาการอ่อนเพลีย ใจหวิวใจสั่น วิงเวียน หน้ามืด กระหายน้ำมาก ปากแห้ง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ปวดกล้ามเนื้อ หรือเป็นตะคริว   
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน ยาหายหรือขาดยา หรือมีอาการสงสัยว่าเป็นผลข้างเคียงจากยาหรือแพ้ยา

การป้องกัน

เนื่องจากโรคนี้มีสาเหตุส่วนใหญ่ที่ไม่อาจป้องกันได้ รวมทั้งมีบางส่วนที่ไม่ทราบสาเหตุ จึงยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผลเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นในรายที่เกิดจากสาเหตุที่ป้องกันได้ เช่น ไตวายเรื้อรัง กรวยไตอักเสบเรื้อรัง สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น ก็ควรหาทางป้องกันโรคเหล่านี้

ควรหาทางป้องกันไม่ให้เกิดภาวะขาดน้ำด้วยการดูแลตนเองและติดตามรักษากับแพทย์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง

ข้อแนะนำ

1. อาการปัสสาวะบ่อยและกระหายน้ำบ่อย มักมีสาเหตุมาจากโรคเบาหวานเป็นส่วนใหญ่ ส่วนน้อยมากที่มีสาเหตุจากโรคเบาจืด การแยกโรคทั้ง 2 นี้ในเบื้องต้นสามารถกระทำโดยการตรวจปัสสาวะ ซึ่งจะพบลักษณะจำเพาะของแต่ละโรค กล่าวคือ เบาหวานจะพบระดับน้ำตาลในปัสสาวะ (ตรวจเลือดจะพบระดับน้ำตาลในเลือดสูง) ส่วนเบาจืดจะตรวจไม่พบน้ำตาลในปัสสาวะ และปัสสาวะจะมีความถ่วงจำเพาะระหว่าง 1.001-1.005 (คนปกติทั่วไปจะมีความถ่วงจำเพาะมากกว่า 1.015)

2. ผู้ที่เป็นโรคทางจิต เช่น จิตเภท (schizophrenia) หรือผู้ที่มีความผิดปกติของกลไกควบคุมการกระหายน้ำ (thirst-regulating mechanism) ในสมองส่วนไฮโพทาลามัส ก็อาจทำให้มีอาการดื่มน้ำมากผิดปกติ เกิดอาการปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย และปัสสาวะมีความถ่วงจำเพาะต่ำคล้ายโรคเบาจืดได้