ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: ฝีดาษลิง (Mpox/Monkeypox)  (อ่าน 148 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 317
  • แหล่งรวมของสะสม เว็บลงประกาศฟรี ลงโฆษณาฟรี ซื้อ-ขายออนไลน์ ใหม่-มือสอง
    • ดูรายละเอียด
ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: ฝีดาษลิง (Mpox/Monkeypox)
« เมื่อ: วันที่ 4 สิงหาคม 2024, 21:36:51 น. »
ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: ฝีดาษลิง (Mpox/Monkeypox)

ฝีดาษลิง (ฝีดาษวานร ก็เรียก) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่พบในสัตว์ฟันแทะและลิง* พบในคนครั้งแรกที่ประเทศคองโกในปี 2513 และต่อมาพบระบาดกลายเป็นโรคประจำถิ่นในทวีปแอฟริกา เริ่มพบระบาดไปนอกแอฟริกาเป็นครั้งแรกคือสหรัฐอเมริกาในปี 2546 และในปี 2564 พบผู้ป่วยชาวอเมริกัน 1 รายซึ่งกลับจากการไปท่องเที่ยวที่ประเทศไนจีเรีย นับแต่ปี 2565 เป็นต้นมา พบระบาดในทวีปต่าง ๆ ทั่วโลก**

โรคนี้จะทำให้มีอาการไข้และผื่นตุ่มขึ้น คล้ายโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ (smallpox) แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า โดยมีผื่นอยู่นานเป็นสัปดาห์ ๆ ซึ่งจะหายได้เองเป็นส่วนใหญ่

กลุ่มที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ ได้แก่ ผู้ที่เดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาด (เช่นในประเทศแถบแอฟริกา), ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ (โดยเฉพาะอย่างกลุ่มชายรักร่วมเพศ ผู้ที่ทำงานด้านบริการทางเพศ ผู้ที่มีคู่นอนหลายคน), ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดหรืออาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันกับผู้ติดเชื้อ, ผู้ที่มีโอกาสสัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อ

*เนื่องจากพบโรคนี้ระบาดในลิงในห้องทดลองเป็นครั้งแรกในปี 2501 จึงได้ชื่อว่า ฝีดาษลิง ซึ่งเดิมใช้ชื่อว่า Monkeypox ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกขอให้ใช้ชื่อว่า Mpox แทน

**เมื่อ 23 กรกฎาคม 2565 องค์การอนามัยโลกประกาศให้การระบาดของโรคฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของโลก เนื่องจากได้พบผู้ติดเชื้อกว่า 16,000 รายใน 75 ประเทศทั่วโลก ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย หลังจากสถานการณ์ผู้ป่วยเริ่มลดลง ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2566 องค์การอนามัยประกาศให้โรคนี้พ้นจากภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ

ในไทยมีรายงานผู้ป่วยรายแรกซึ่งเป็นชาวไนจีเรียที่เดินทางมาที่ภูเก็ตเมื่อ 21 กรกฏาคม 2565 หลังจากนั้นพบมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มีรายงาน (เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2566) ว่าพบผู้ป่วยจำนวนทั้งสิ้น 582 ราย ใน 37 จังหวัดทั่วประเทศ เกือบร้อยละ 60 ของผู้ป่วยทั้งหมดอยู่ในกรุงเทพฯ ทั้งนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชายรักร่วมเพศ ส่วนใหญ่พบในคนอายุ 30-39 ปี รองลงมาคือช่วงอายุ 20-29 ปี อย่างไรก็ตาม โรคนี้พบได้ในคนทุกเพศทุกวัยที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย

สาเหตุ

เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม orthopoxvirus* (ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับเชื้อไวรัสโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ) โรคนี้สามารถติดต่อได้ 2 ทาง ได้แก่

1. จากคนสู่คน เชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนัง (ที่มีรอยแยก) เยื่อเมือก (เช่น เยื่อบุตา ช่องปาก คอหอย ช่องคลอด องคชาต ทวารหนัก) หรือทางเดินหายใจ

การติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสถูกผื่น ตุ่ม น้ำหนอง แผลที่ผิวหนัง สารคัดหลั่ง (เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ น้ำตา) ของผู้ติดเชื้อ หรือสัมผัสถูกบริเวณทวารหนักหรือช่องคลอดของผู้ติดเชื้อ โดยการสัมผัสอย่างแนบชิด เช่น การนวด การกอด จูบ หรือการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ แต่ก็สามารถพบในคนทั่วไปที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ บางรายอาจเกิดจากการใช้ของร่วมกับผู้ติดเชื้อ เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม ผ้าปูที่นอน หมอน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังพบว่ามีการติดเชื้อจากมารดาสู่ทารกผ่านทางรกขณะอยู่ในครรภ์ หรือจากการสัมผัสใกล้ชิดหลังคลอด

ส่วนการติดเชื้อจากการสูดละอองฝอยที่ผู้ติดเชื้อไอ จาม หรือหายใจรดนั้นพบได้เป็นส่วนน้อย ผู้ป่วยมักต้องมีการสัมผัสแบบตัวต่อตัว (เช่น การพูดคุยกันอย่างใกล้ชิด) เป็นเวลานาน ๆ

2. จากสัตว์สู่คน ส่วนใหญ่ติดเชื้อมาจากสัตว์ฟันแทะ (เช่น หนู กระรอก กระแต กระต่าย) โดยการสัมผัสถูกเลือด สารคัดหลั่ง ผื่นหรือตุ่มหนองของสัตว์ หรือถูกสัตว์ติดเชื้อกัดหรือข่วน หรือกินเนื้อสัตว์ติดเชื้อที่ปรุงไม่สุก การติดเชื้อจากสัตว์พบได้เป็นส่วนน้อย และมักพบในพื้นที่ที่มีโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่น (เช่นแอฟริกา)

ระยะฟักตัว 5-21 วัน

*เชื้อไวรัสฝีดาษลิงที่พบในแอฟริกาแบ่งเป็น 2 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ชนิดที่ 1 (สายพันธุ์คองโก) และสายพันธุ์ชนิดที่ 2 (สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก) สายพันธุ์ชนิดที่ 1 พบในแอฟริกากลาง (เช่น คองโก) มีอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 10 ส่วนสายพันธุ์ชนิดที่ 2 พบในแอฟริกาตะวันตก (เช่น ไนจีเรีย) และมีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์ชนิดที่ 1 คือมีอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 1-3 การระบาดที่เกิดขึ้นทั่วโลกตั้งแต่ปี 2565 เกิดจากสายพันธุ์ชนิดที่ 2

อาการ

ระยะแรก จะมีอาการไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโตทั่วร่างกาย บางรายอาจมีอาการเจ็บคอ เจ็บทวารหนัก อาเจียน หรือท้องเดินร่วมด้วย

ระยะต่อมา (หลังมีไข้ 1-3 วัน) จะมีผื่นตุ่มขึ้นจำนวนมากตามบริเวณใบหน้าและแขนขา (มากกว่าลำตัว) ซึ่งมักจะขึ้นที่ใบหน้าก่อน แล้วกระจายไปตามแขนขา โดยเริ่มแรกขึ้นเป็นผื่นแดงหรือปื้นนูนแดง ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มน้ำใส ซึ่งอาจรู้สึกปวดเจ็บ แสบร้อน หรือคัน ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มหนอง และกลายเป็นสะเก็ด แล้วในที่สุดก็จะหลุดลอกไป ผื่นตุ่มเหล่านี้จะเป็นอยู่นานประมาณ 2-4 สัปดาห์ (ในรายที่มีภูมิคุ้มกันต่ำอาจนานกว่านี้) หลังตกสะเก็ดอาจเกิดรอยโรคหรือแผลเป็นได้ เนื่องจากผื่นตุ่มของโรคนี้จะกินถึงผิวหนังชั้นลึก

บางรายอาจมีผื่นตุ่มที่บริเวณมือ (รวมทั้งฝ่ามือ) เท้า (รวมทั้งฝ่าเท้า) เยื่อบุในช่องปาก คอหอย อวัยวะเพศ เยื่อบุตาขาว และกระจกตาได้

บางรายอาจมีอาการต่างไปจากลักษณะที่พบในผู้ป่วยส่วนใหญ่ดังกล่าวข้างต้น เช่น มีเพียงไข้ต่ำ ๆ หรือมีผื่นตุ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย หรือมีอาการผื่นขึ้นก่อนหรือพร้อมกับอาการอื่น ๆ ไม่มีอาการต่อมน้ำเหลืองโต ซึ่งอาจทำให้คิดว่าไม่ใช่โรคฝีดาษลิง และละเลยการป้องกันการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น

ภาวะแทรกซ้อน

เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น ผู้ป่วยเอดส์) มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน อาทิ

    คออักเสบ ซึ่งอาจรุนแรงจนทำให้กลืนลำบาก
    ทวารหนักอักเสบ ซึ่งอาจรุนแรงจนทำให้ถ่ายอุจจาระลำบาก
    ผื่นตุ่มที่ผิวหนังเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
    ภาวะโลหิตเป็นพิษจากเชื้อเข้ากระแสโลหิต 
    การติดเชื้อที่กระจกตา ซึ่งอาจรุนแรงทำให้ตาบอดได้
    ปอดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ สมองอักเสบ
    หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคฝีดาษลิง อาจทำให้ทารกตายในครรภ์ แท้งบุตร ทารกคลอดก่อนกำหนด

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย ซึ่งมีสิ่งตรวจพบ ดังนี้

ไข้ มากกว่า 38 องศาเซลเซียส

ต่อมน้ำเหลืองโต ซึ่งถือเป็นจุดเด่นที่สังเกตได้ของโรคนี้ สามารถเกิดขึ้นได้ตามจุดต่าง ๆ ที่สัมผัสโรค เช่น คอ ไหปลาร้า รักแร้ ข้อศอก เป็นต้น

ผื่นแดง ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง ตามใบหน้า แขนขา ฝ่ามือ ฝ่าเท้า

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัด โดยการตรวจหาสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) ของเชื้อจากน้ำหรือหนองจากตุ่มที่ผิวหนังด้วยเทคนิค polymerase chain reaction (PCR) ในกรณีที่ไม่พบผื่นตุ่มที่ผิวหนัง จะตรวจจากสารคัดหลั่งในลำคอ หรือทวารหนัก ซึ่งเก็บตัวอย่างโดยการใช้ไม้ป้ายคอหอย (oropharyngeal swab) หรือไม้ป้ายทวารหนัก (anal/rectal swab)

การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การรักษาโรคนี้ ดังนี้

    ในรายที่อาการไม่รุนแรงและไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง จะให้การรักษาตามอาการ เช่น ยาแก้ปวดลดไข้ (พาราเซตามอล หรือไอบูโพรเฟน) ยาแก้คัน (เช่น ยาแก้แพ้ คาลาไมน์โลชั่น), ให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำในรายที่กินไม่ได้หรือมีภาวะขาดน้ำ, ให้ยาปฏิชีวนะในรายที่ผื่นตุ่มมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน เป็นต้น
    ในรายที่มีอาการรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง แพทย์จะรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล และให้การรักษาภาวะผิดปกติที่พบ (เช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ)

ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงบางราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือมีโรคประจำตัว แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัส ได้แก่ tecovirimat (หรือ TPOXX) ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาโรคไข้ทรพิษ

ผลการรักษา ส่วนใหญ่มักจะหายได้ภายใน 2-4 สัปดาห์โดยการรักษาตามอาการ ส่วนผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง หากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็มักจะหายได้เป็นปกติ มีส่วนน้อยที่อาจมีความพิการ (เช่น ในรายที่เป็นสมองอักเสบที่รุนแรง) หรือเสียชีวิต

การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต มีผื่นตุ่มขึ้นตามผิวหนัง และมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยฝีดาษลิง ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคฝีดาษลิง ควรดูแลตนเองดังนี้

    รักษาและปฏิบัติตัวตามที่แพทย์แนะนำ และติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
    แยกตัวออกจากผู้อื่นทันที แยกห้องนอน ห้องน้ำ แยกของใช้ และงดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าแผลจะตกสะเก็ด (ระยะที่เป็นตุ่มน้ำใส และตุ่มหนอง สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้)
    สวมหน้ากากอนามัย ถ้ามีคนอื่นอยู่ในบริเวณใกล้เคียง
    หมั่นล้างมือบ่อย ๆ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนหรือหลังสัมผัสผื่นตุ่ม)
    กินอาหารสุขภาพ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และดื่มน้ำมาก ๆ 
    ถ้ามีแผลในปาก ให้ใช้น้ำเกลือกลั้วปากวันละ 4 ครั้ง
    หลีกเลี่ยงการสัมผัสวัตถุหรือพื้นผิวที่ผู้อื่นใช้ร่วม เช่น ลูกบิดประตู โต๊ะ เก้าอี้ รีโมตทีวี เป็นต้น หากเลี่ยงไม่ได้ หลังสัมผัส ควรใช้แอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาดทันที
    ตัดเล็บให้สั้น และห้ามแคะ แกะ เกาผื่นหรือตุ่ม เพราะการแคะ แกะ เกาอาจทำให้ผื่นตุ่มหายช้า แพร่กระจายผื่นตุ่มไปยังบริเวณอื่นของร่างกาย อาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน และกลายเป็นแผลเป็นได้

ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีอาการผิดปกติ (เช่น เจ็บหน้าอกมาก หอบหรือหายใจลำบาก รู้สึกเหนื่อยง่าย ซึมมาก ไม่ค่อยรู้สึกตัว ชัก แขนขาอ่อนแรง ปวดศีรษะมาก อาเจียน กินไม่ได้ แผลเป็นหนองหรือสงสัยว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน) หรือมีอาการที่สงสัยว่าเป็นผลข้างเคียงจากยาหรือแพ้ยา

สำหรับผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ (เช่น อยู่ในบ้านเดียวกัน เป็นสามีภรรยาหรือมีเพศสัมพันธ์กัน มีการพูดคุยกันอย่างใกล้ชิด) ควรสังเกตอาการของตนเอง และแยกตัวเองออกจากผู้อื่น หากมีอาการผิดสังเกต ควรไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

การป้องกัน

    หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วย และไม่นำมือไปสัมผัสผื่น ตุ่ม หนอง ของผู้ติดเชื้อ
    ออกห่างจากผู้ติดเชื้อ หรือผู้ที่มีประวัติสัมผัสผู้ป่วย แยกห้องนอน ห้องน้ำ แยกของใช้ และงดการมีเพศสัมพันธ์กับคนเหล่านี้
    หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์หรือสารคัดหลั่งของสัตว์ที่อาจเป็นพาหะ (เช่น สัตว์ฟันแทะ ลิง) ไม่กินเนื้อสัตว์ไม่ปรุงสุก
    ในช่วงที่มีการระบาด หมั่นสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยน้ำกับสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา จมูก และไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น

ข้อแนะนำ

1. ฝีดาษลิงเป็นโรคประจำถิ่นในแถบแอฟริกามานาน แต่เพิ่งมีการระบาดไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยเมื่อปี 2565 ดังนั้น หากมีไข้ และผื่นตุ่มขึ้นตามตัว นอกจากมีสาเหตุจากอีสุกอีใส โรคมือ เท้า ปาก เริม งูสวัดแล้ว ก็ควรนึกว่าอาจเกิดจากโรคฝีดาษลิงนี้ก็ได้ (ตรวจอาการ "ไข้ร่วมกับมีผื่นหรือตุ่มขึ้น" เพิ่มเติม)

โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคฝีดาษลิงจะมีผื่น ตุ่มน้ำใส และตุ่มหนองขึ้นกระจายไปทั่วร่างกายในลักษณะแบบเดียวกับอีสุกอีใส ต่างกันตรงที่ฝีดาษลิงจะมีต่อมน้ำเหลืองโตตามคอ ไหปลาร้า รักแร้ ข้อศอก ซึ่งมักไม่พบในอีสุกอีใส ส่วนอีสุกอีใสมักจะติดต่อกันได้ง่ายกว่าฝีดาษลิง อย่างไรก็ตาม หากพบอาการไข้และผื่นตุ่มขึ้นในกลุ่มชายรักร่วมเพศ หรือผู้ที่มีประวัติสัมผัสโรคฝีดาษลิง ควรสงสัยว่าเป็นฝีดาษลิงมากกว่าอีสุกอีใส ซึ่งควรให้แพทย์วินิจฉัยโดยเร็ว

2. โรคนี้เกิดจากการสัมผัสแบบแนบชิดกันเป็นหลัก ซึ่งพบในกลุ่มเสี่ยงบางกลุ่ม (เช่น กลุ่มชายรักร่วมเพศ ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่อยู่ในบ้านด้วยกัน) ไม่ได้แพร่ในที่สาธารณะอย่างกว้างขวางเช่นโรคโควิด-19 สามารถป้องกันด้วยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย

3. สำหรับผู้ที่มีประวัติติดโรคฝีดาษลิงจากการมีเพศสัมพันธ์ แพทย์จะทำการตรวจว่ามีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่น (เช่น เอชไอวี ซิฟิลิส หนองใน หนองในเทียม) ร่วมด้วยหรือไม่ หากพบก็จะให้การรักษาควบคู่ไปด้วย

4. ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิง ซึ่งมีใช้ในประเทศที่มีการระบาดของโรคนี้อย่างรุนแรง สำหรับบ้านเรา เนื่องจากโรคนี้ยังไม่ถือเป็นการระบาด จึงยังไม่มีวัคซีนชนิดนี้

ผู้ที่เคยได้รับการปลูกฝีป้องกันโรคฝีดาษมาก่อน จะมีภูมิคุ้มกันที่ช่วยปัองกันโรคฝีดาษลิง และมีความเสี่ยงต่อการติดโรคฝีดาษลิงน้อยกว่าผู้ที่ไม่เคยปลูกฝี ในบ้านเราการปลูกฝีได้ยกเลิกไปตั้งแต่ปี 2517 เนื่องจากโรคฝีดาษถูกกำจัดหมดไปจากโลก