หมอออนไลน์: แผลถลอกในช่องหูแผลถลอกในช่องหู ในที่นี้หมายถึงช่องหูชั้นนอกเกิดแผลถลอก หากปล่อยปละละเลย อาจทำให้หูชั้นนอกเกิดการติดเชื้ออักเสบรุนแรงได้ มักพบในผู้ที่ชอบแคะหูบ่อย
สาเหตุ
มักเกิดจากการแคะหูแรง ๆ หรือทำอย่างผิด ๆ ทำให้ผิวหนังในบริเวณรูหูเกิดเป็นแผลถลอก
อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหู หูอื้อ และอาจมีเลือดหรือน้ำเหลืองไหลออกจากหู
ภาวะแทรกซ้อน
อาจมีการติดเชื้ออักเสบ กลายเป็นหูชั้นนอกอักเสบได้
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและการใช้เครื่องส่องหูตรวจ พบรอยถลอกในรูหู
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
ถ้าเป็นไม่มาก แผลถลอกอาจหายได้เองภายใน 2-3 วัน แต่ควรระวังรักษาความสะอาด อย่าลงดำน้ำ หรือเล่นน้ำในสระหรือแม่น้ำลำคลอง อาจใช้ไม้พันสำลีชุบน้ำยาโพวิโดนไอโอดีนทาวันละ 2-3 ครั้ง
ถ้าปวดให้ยาแก้ปวด
ถ้ามีอาการติดเชื้อ ให้ยาปฏิชีวนะ (เช่น ไดคล็อกซาซิลลิน, อีริโทรไมซิน) 5-7 วัน
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีอาการปวดหู มีเลือดหรือน้ำเหลืองซึมออกจากหู ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นแผลถลอกในช่องหู ควรดูแลตนเอง ดังนี้
รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
งดการลงเล่นน้ำ ดำน้ำ หรือว่ายน้ำในสระหรือแม่น้ำลำคลอง
เวลาอาบน้ำ ใช้สำลีหรือวัสดุอุดรูหู ป้องกันไม่ให้น้ำเข้าหู
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลาใน 2-3 วัน
มีอาการไข้ ปวดหูมากขึ้น หรือหูน้ำหนวกไหล
ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
การป้องกัน
หลีกเลี่ยงการใช้ไม้หรือสิ่งอื่น ๆ แคะหู เพราะนอกจากไม่จำเป็นแล้ว ยังอาจทำให้เกิดแผลถลอกและติดเชื้ออักเสบได้
ข้อแนะนำ
แผลถลอกในช่องหู ส่วนใหญ่มีอาการเพียงเล็กน้อยและหายได้เอง โดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ
ส่วนน้อยอาจเกิดการติดเชื้อกลายเป็นหูชั้นนอกอักเสบรุนแรงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน หรือเอดส์